ในยุคที่โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงและครอบครอง ไม่ว่าใคร วัยไหน อาชีพอะไรก็ใช้กัน จนหลายคนเปรียบเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะไม่ว่าจะทำอะไรเราก็จะก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนกันแทบจะตลอดเวลา จนเป็นที่มาของ โรคติดมือถือ” หรือ โรคโนโมโฟเบีย”

โรคติดมือถือหรือโรคโนโมโฟเบีย (No Mobile Phone Phobia) เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีอาการหวาดกลัว วิตกกังวล ตื่นตระหนก เมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ๆ โทรศัพท์แบตฯ หมด หรืออยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่อยู่ในสภาวะดังกล่าวจะเกิดความเครียด หรือถึงขั้นเวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้เลย และโรคติดมือถือ กำลังได้รับการพิจารณาบรรจุไว้ในโรคจิตเวชชนิดหนึ่งในกลุ่มวิตกกังวล

โรคติดมือถือ จุดเริ่มต้นปัญหาสุขภาพแบบบุฟเฟ่ต์

โรคติดมือถือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ความเครียด ความกังวลต่างๆ แต่นอกจากปัญหาส่วนนี้แล้ว โรคติดมือถือยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพทางร่างกายอีกหลากหลายปัญหา เรียกได้ว่าเรียงหน้ากันมาแบบบุฟเฟ่ต์เลยทีเดียว

โรคติดมือถือ

ปัญหาสุขภาพจุดแรกที่สามารถเกิดได้เร็วที่สุดจากโรคติดมือถือ คือ อาการนิ้วล็อค เนื่องจากการสไลด์ ไถๆ จิ้มๆ หน้าจอมือถือเป็นเวลานาน และบ่อยๆ ทำให้เกิดการปวดข้อนิ้วและข้อมือ อาจมีอาการเส้นเอ็นยึด และเกิดพังผืดร่วมด้วย นอกจากนิ้วล็อคแล้ว สุขภาพด้านสายตาก็เป็นอีกปัญหาที่ตามมาจากโรคติดมือถือ เพราะการเพ่งหน้าจอที่มีแสงสว่างจ้านานๆ ทำให้ตาแห้ง ตาพร่า และล้าได้ จนอาจส่งผลร้ายแรงกับดวงตาในระยะยาว และด้วยลักษณะการก้มมองจอโทรศัพท์ ก็เป็นที่มาของอาการปวดคอ บ่า ไหล่ด้วยเช่นกัน

นอกจากอาการเบื้องต้นที่จะเกิดตามมาจากโรคติดมือถือทั้งบริเวณ นิ้ว ดวงตา และคอ บ่า ไหล่แล้ว โรคติดมือถือยังสามารถส่งผลต่อปัญหาสุขภาพบริเวณหมอนรองกระดูก และโรคอ้วนอีกด้วย เนื่องจากการใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานขึ้น ทำให้ขยับตัวน้อย กิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตก็น้อยลง กินปกติหรือกินมากไปแต่นำไปใช้ได้น้อยลง ไขมันก็สะสมจนทำให้เกิดโรคอ้วนอย่างเลี่ยงไม่ได้

โรคติดมือถือ กระทบต่อการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว โรคติดมือถือยังสามารถสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เนื่องจากปัญหาเรื่องการแบ่งเวลานั่นเอง จากพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคติดมือถือ คือจะต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็กบ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วนและไม่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ในขณะทำกิจกรรมสำคัญอื่นๆ อย่างตอนทำงาน ตอนประชุม ทำให้เสียสมาธิและไม่จดจ่ออยู่กับเนื้อหางานตรงหน้าเท่าที่ควร รวมถึงส่งผลเสียเรื่องของบุคลิกภาพ ส่วนแรกเนื่องจากก้มหน้ามองจอโทรศัพท์นานๆ ทำให้กระดูกสันหลังและต้นคอเปลี่ยนรูปจนโค้งงอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลาทำให้ลดทอนภาพลักษณ์ภายนอกลง

โรคติดมือถือ

โรคติดมือถือยังทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เพราะมัวแต่ใช้งานโทรศัพท์ ระบายความรู้สึกต่างๆ ลงโซเชียลแทนการพูดคุยกัน สนทนาและสนใจคนรอบข้างน้อยลง และมีการศึกษาพบว่า การเป็นโรคติดมือถือยังทำให้ระยะเวลาสบตากันขณะสนทนาสั้นลง แทนที่จะพูดคุยและสบตาไปพร้อมกัน เพราะการสบตาเป็นอีกช่องทางในการสื่อความหมายของสิ่งที่พูดได้ดีขึ้น

แล้วคุณล่ะ เป็นโรคติดมือถือรึยัง?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา หงุดหงิดหากไม่มีโทรศัพท์ แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ และโพสต์ต่างๆ บนโซเชียล แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ แม้ไม่มีเรื่องด่วนหรือไม่มีการแจ้งเตือน แต่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดู แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ ตื่นนอนมาสิ่งแรกที่ทำคือการหยิบมือถือขึ้นมาเช็ก แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

โรคติดมือถือ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำ ทานข้าว เดินกลับบ้าน ยืนรอรถ แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ รู้สึกเครียด และกังวลหากโทรศัพท์แบตฯหมด แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ สนทนาบนออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือ

แก้ก่อนสาย หากไม่อยากเสียงาน เสียสุขภาพเพราะโรคติดมือถือ

จริงๆ ก็เป็นเรื่องปฏิเสธได้ยากหากจะไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือเลยในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร เป็นแหล่งรวมความบันเทิง การทำธุรกรรมทางการเงิน และข้อมูลส่วนตัว แต่หากไม่ยับยั้งก็จะทำให้เราเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์ จนทำให้เป็นโรคติดมือถือ และโรคอื่นๆ ก็จะตามมา ก่อนสายเกินไปลองเช็กตัวเองและเริ่มแก้ไขพฤติกรรมการใช้มือถือก่อนสายไปนะคะ

เริ่มจากการกำหนดขอบเขตระยะเวลาในการใช้งานโทรศัพท์ เช่นห้ามหยิบโทรศัพท์หลัง 3 ทุ่ม หรือกำหนดเป็นช่วงๆ ระหว่างวัน เช่น ก่อนเข้างานครึ่งชั่วโมง หลังทานข้าวอีกครึ่งชั่วโมง และหลังเลิกงาน เล่นก่อน 3 ทุ่ม หรือกำหนดไม่ให้ตัวเองใช้โทรศัพท์ขณะทานข้าว เข้าห้องน้ำ

หากิจกรรมอื่นๆ ที่ตัวเองสนใจทำแทนการอยู่เฉยๆ เพราะบางคนให้เหตุผลว่า การใช้งานโทรศัพท์ไม่ได้ติดมือถือ แต่เบื่อๆ ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ทำให้ต้องหยิบมือถือออกมาเล่น จนกลายเป็นโรคติดมือถือแบบไม่รู้ตัว การหากิจกรรมที่น่าสนใจ เช่นออกไปวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อ่านหนังสือ เป็นการทดแทนเวลาที่จะเสียไปกับโทรศัพท์แบบไร้ประโยชน์ได้

นี่อาจเป็นที่มาของคำว่า โรคที่มาพร้อมเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น แต่ถ้ามองให้ดีปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวโทรศัพท์มือถือเลย แต่อยู่ที่พฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างเราๆ มากกว่า ที่ไม่สามารถแบ่งและจัดสรรเวลาได้ ทำให้มือถือเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรม และดูดกลืนความเป็นธรรมชาติ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความรับผิดชอบ รวมถึงก่อปัญหาด้านสุขภาพใจและกายอีกด้วย หากเรารู้ตัวและปรับแก้ได้ทัน เทคโนโลยีมือถือก็จะมีประโยชน์และเกิดโทษต่อผู้ใช้น้อยที่สุด โดยเฉพาะไม่ทำให้เราเป็น “โรคติดมือถือ” หรือ “โรคโนโมโฟเบีย” นั่นเองค่ะ

ที่มา: bangkokhealth.comthaipost.net