สำหรับคนทำครัว การมีเครื่องครัวดีๆ ถือเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง หลายคนจึงพิถีพิถันในการเลือกเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะหม้อ กระทะ ตะหลิว และอีกมากมาย แต่กลายเป็นว่าละเลย และไม่ใส่ใจกับการเลือกมีดทำครัวซักเท่าไหร่ เพราะคิดว่ามีดแบบไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน ขอแค่มีความคม แต่จริงๆ แล้ว หากเราพิถีพิถันในการเลือกมีด ใช้มีดให้ถูกประเภทกับวัตถุดิบ เราจะพบว่าการทำครัวนั้นสนุกกว่าที่คิด มีดที่ดียังส่งผลไปถึงรูปลักษณ์ หน้าตาของอาหาร รสสัมผัส รวมถึงรสชาติ ทั้งยังช่วยลดความตึงเครียดในการทำครัวได้อีกด้วย

วันนี้ออฟฟิศเมทจะพาไปรู้จักกับมีดที่ใช้ในการหั่นวัตถุดิบแต่ละประเภท รวมถึงมีดที่ควรมีติดครัวเอาไว้ แถมด้วยเคล็ดลับการดูแลรักษา การลับมีดให้คมกริบ! และวิธีการเก็บมีดให้ปลอดภัย ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยยย

มีดแบบนี้ เหมาะกับการใช้งานแบบไหน?

หลายๆ บ้านมีมีดติดครัวไว้เพียง 1-2 เล่ม สำหรับใช้หั่นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ ผัก หรือปอกเปลือกผลไม้ แต่สำหรับร้านอาหาร โรงแรม หรือรีสอร์ท ที่ต้องเน้นทั้งเรื่องรูปลักษณ์ รสสัมผัส และรสชาติ จำเป็นต้องมีมีดหลายแบบหลายชนิด เพื่อใช้ในการหั่นวัตถุดิบแต่ละประเภท ไปดูกันค่ะว่า หากต้องการทำธุรกิจร้านอาหาร หรือ Horeca มีดแบบไหนบ้างที่จำเป็นต้องมี!

มีดเชฟ (Chef’s Knife)

มีดเชฟ คือมีดประจำตัวของเชฟ ใช้งานได้หลากหลาย เชฟจะใช้มีดนี้ในการหั่น บั้ง หรือซอย อาจเรียกว่าเป็นมีดอเนกประสงค์ ส่วนใหญ่จะใช้ในขั้นตอนการเตรียมส่วนผสม มีดเชฟมีลักษณะเป็นมีดสเตนเลส ขนาดความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

มีดปอกผลไม้ (Paring Knife)

มีดปอกผลไม้ ออกแบบมาเพื่อใช้ปอกเปลือกผลไม้ หรือผักโดยเฉพาะ ไม่เหมาะกับการหั่นหรือตัด มีดมีรูปทรงบาง ขนาดเล็ก และใบมีดสั้น ความยาวอยู่ที่ประมาณ 9-11 เซนติเมตรเท่านั้น    

มีดสับ (Cleaver)

มีดสับ หรือที่เรียกกันว่า ‘อีโต้’ มีรูปทรงคล้ายมีดปังตอ แต่ขนาดเล็กกว่า ใบมีดรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามจับขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้จับได้ถนัดมือ ใช้สำหรับสับชิ้นเนื้อ หั่นกระดูก หรือข้อต่อ   

มีดหั่นขนมปัง (Bread Knife)

มีดหั่นขนมปัง

มีดหั่นขนมปัง เป็นมีดสำหรับใช้งานเฉพาะทาง ใช้สำหรับหั่นก้อนขนมปังหรือตัดแบ่งเค้กโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นใบมีดยาว ที่ด้านคมมีดมีรอยหยักคล้ายฟันเลื่อย ช่วยให้หั่นก้อนขนมปังออกมาเป็นแผ่นได้อย่างสวยงาม เนื้อขนมปังไม่ฉีกขาด และเรียบเนียน นิยมใช้ในร้านอาหารของโรงแรม ภัตตาคาร ร้านขายขนมปัง หรือร้านเบเกอรี นอกจากนั้น มีดหั่นขนมปังยังสามารถใช้หั่นมะเขือเทศได้โดยไส้ไม่ช้ำอีกด้วย

มีดแล่เนื้อ (Carving Knife)

มีดแล่เนื้อ หรือเรียกอีกชื่อว่า มีดสไลด์ เหมาะสำหรับพ่อครัว แม่ครัว หรือผู้ที่มีความชำนาญในการใช้มีด เพราะถือเป็นมีดเฉพาะทาง ใช้สำหรับแล่เนื้อโดยตรง เช่น สไลด์เนื้อหมู สไลด์เนื้อวัว หรือหั่นก้อนแฮมให้เป็นแผ่นบางๆ ด้วยปลายมีดที่แหลมและคมซึ่งสามารถเจาะหรือหั่นเนื้อเหนียวๆ ได้สบายๆ ช่วยให้แล่ชิ้นเนื้อได้อย่างสวยงาม ส่วนใหญ่มีความยาวของใบมีดราว 20 เซนติเมตร 

มีดแล่ปลา (Filleting Knife)

มีดแล่ปลา ถือเป็นมีดอีกหนึ่งชนิดที่ออกแบบมาให้ใช้งานเฉพาะทาง ใบมีดรูปทรงโค้ง มีความบางและแหลม ความโค้งและบางของใบมีดจะช่วยในการซอกซอนเข้าเนื้อปลา ให้เลาะก้างปลาออกมาได้ง่ายขึ้น

มีดอเนกประสงค์ (Utility Knife)

มีดอเนกประสงค์ สามารถใช้งานในครัวได้สารพัดประโยชน์ ทั้งหั่น บั้ง ซอย เจาะ ฯลฯ แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการหั่นผักและผลไม้ มีดอเนกประสงค์มีรูปทรงคล้ายมีดเชฟ แต่ขนาดเล็กกว่า ใบมีดมีความยาวประมาณ 13 เซนติเมตร 

มีด 3 แบบ ที่ควรมีติดครัวเอาไว้ จบ ครบ ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน

สำหรับคนที่เน้นทำครัวอยู่บ้าน หรือทำอาหารทานเองเป็นส่วนใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องมีดหลากหลายชนิดตามสูตรเชฟ หรือร้านอาหาร เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ทั้งยังต้องมีพื้นที่เพื่อจัดเก็บเพิ่ม และต้องเสียเวลาดูแลรักษาอีกด้วย

มีด 3 แบบ ที่เราแนะนำว่าควรมีติดครัว คือ มีดอเนกประสงค์ (Utility Knife) หรือ มีดเชฟ (Chef’s knife) เพราะมีความอเนกประสงค์สูง ใช้เป็นมีดหลักในการหั่น แล่ ซอย และสับ อีกหนึ่งเล่ม คือ มีดปอก (Paring Knife) สำหรับใช้ปอกเปลือกโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะผักหรือผลไม้ และมีดแบบสุดท้าย คือ มีดอีโต้ หรือ มีดสับ (Cleaver) ใช้สำหรับสับเนื้อสัตว์ หั่นกระดูก หรือหั่นอาหารแช่แข็ง

มีด 3 เล่มนี้มีติดครัวเอาไว้สามารถใช้งานได้หลากหลายและครอบคลุม สามารถใช้ทำอาหารแบบพื้นฐานได้ แล้วถ้าวันไหนอยากลองฝึกทำอาหารขั้นแอดวานซ์ค่อยหาซื้อมีดแบบเฉพาะทางมาใช้เพิ่มเติมก็ยังได้

ดูุแลรักษามีด ลับมีดให้คมกริบตลอดเวลา ช่วยให้วัตถุดิบไม่เสียทรง

ดูแลรักษามีดให้สะอาดและคมกริบ พร้อมใช้งานตลอดเวลา

มีดที่ขาดการดูแลรักษาหรือทำความสะอาดผิดวิธี จะทำให้เกิดสนิมได้ง่าย ทั้งยังอาจทำให้ความคมของมีดหายไป จึงควรดูแลรักษา และทำความสะอาดมีดให้ถูกวิธี ดังนี้

  1. หลังการใช้งานมีด ให้เช็ดคราบต่างๆ ออกจากใบมีดด้วยผ้าสะอาด แล้วจึงล้างทำความสะอาดด้วยฟองน้ำและน้ำยาล้างจาน
  2. เมื่อล้างมีดจนสะอาดแล้ว ควรเช็ดให้แห้งทันที ไม่เก็บมีด หรือปล่อยมีดที่เปียกทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เกิดสนิมบนใบมีดได้
  3. ส่วนมีดที่ไม่ค่อยได้หยิบออกมาใช้ ควรหมั่นทำความสะอาด และตรวจเช็กคราบสนิม เพื่อถนอมมีด และเตรียมมีดให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ 
  4. การลับมีดให้คม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลรักษามีด ยิ่งกับงานในครัวโรงแรมด้วยแล้ว ยิ่งต้องลับมีดทุกครั้งหลังใช้ เพื่อให้มีดนั้นคมกริบพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพราะมีดทื่อๆ จะทำให้วัตถุดิบเสียทรง ทั้งยังสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้กับการทำครัวอีกด้วย

เทคนิคการลับมีดให้คม ทำได้ด้วยอุปกรณ์ลับมีด 3 แบบ ดังนี้

  • หินลับมีด

หินลับมีด เป็นหินทรงสี่เหลี่ยม มีทั้งแบบหินธรรมชาติ และหินที่ผสมกับเซรามิก ก่อนใช้หินลับมีด ต้องแช่หินลับมีดในน้ำสะอาดประมาณ 10 นาที ขั้นตอนการลับมีด ให้วางคมมีดทำมุม 10-15 องศา จากนั้นเคลื่อนใบมีดถูขึ้น-ลงกับหินช้าๆ ทำซ้ำประมาณด้านละ 4-5 ครั้ง 

  • เครื่องลับมีด

เครื่องลับมีด อุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยเบาแรง มีการออกแบบเหลี่ยมมุมมาให้สามารถลับมีดให้คมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ใช้ลับมีดได้ทุกชนิด แต่ก็มีราคาสูงเช่นกัน

  • ลับมีดด้วยก้นจานกระเบื้อง

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สามารถใช้ลับมีดได้ คือ ก้นของจานกระเบื้อง วิธีการคือ คว่ำจานกระเบื้องลง แล้วนำใบมีดถูกับส่วนขอบของก้นจานที่มีความสาก ก็สามารถช่วยให้มีดคมขึ้นได้ แต่วิธีนี้ควรใช้ในเวลาเร่งด่วน เพราะสำหรับการลับมีดแล้ว ใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะจะดีที่สุด

เก็บมีดไว้ที่ไหนปลอดภัยที่สุด?

การจัดเก็บมีดเข้าที่หลังจากทำความสะอาด มีด้วยกันหลายวิธี ในความเป็นจริงก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน แต่ถึงอย่างไร ก็ควรให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของมีดด้วยนะคะ

บอร์ดแม่เหล็กติดผนังสำหรับเก็บมีด
  • เก็บมีดไว้ใกล้ๆ เขียง 

เก็บมีดไว้ใกล้ๆ เขียง ช่วยให้หยิบใช้งานได้สะดวก แต่ถึงอย่างนั้น ก็เป็นวิธีเก็บมีดที่มีความปลอดภัยน้อยที่สุด ยิ่งในบ้านที่มีเด็กๆ ด้วยแล้ว การเก็บมีดแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงเลยนะคะ

  • เก็บมีดในลิ้นชัก

เก็บมีดไว้ในลิ้นชัก เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และทางที่ดี ต้องแยกส่วนของลิ้นชักสำหรับเก็บมีดโดยเฉพาะ ไม่ใส่มีดรวมไว้ในช่องของช้อน ส้อม หรืออุปกรณ์อื่นๆ เด็ดขาด ไม่อย่างนั้น วันไหนเผลอๆ จะหยิบช้อนส้อม อาจโดนมีดบาดได้เป็นของแถม  

  • เก็บในกล่องเสียบมีด

กล่องเก็บมีด อีกหนึ่งวิธีเก็บมีดที่มีความปลอดภัย เป็นระเบียบ ทั้งยังสามารถวางไว้ใกล้ๆ เขียง ช่วยให้หยิบใช้งานได้สะดวก แต่ก่อนเก็บมีดเข้ากล่องเสียบ คุณควรเช็ดมีดให้แห้ง อย่าเสียบมีดลงกล่องทั้งๆ ที่มีดยังเปียกอยู่ เพราะความทึบภายในกล่อง จะทำให้เกิดความชื้น หากเป็นกล่องไม้อาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ข้อเสียอีกอย่างที่สำคัญของกล่องเก็บมีด คือ เวลาที่ต้องหยิบมีดเข้า-ออก คมมีดที่เสียดสีกับพื้นผิวของกล่องเสียบ จะทำให้มีดเสียคมได้ง่ายนั่นเอง   

  • เก็บมีดบนบอร์ดแม่เหล็กติดผนัง

การเก็บมีดบนบอร์ดแม่เหล็กติดผนัง หรือ Magnetic bar มีความโดดเด่นเรื่องดีไซน์ ช่วยทำให้ครัวดูมีความโมเดิร์นขึ้นได้ ทั้งยังมองเห็นมีดแต่ละเล่มได้ชัดเจน หยิบใช้งานได้สะดวก เหมาะกับครัวสมัยใหม่ที่มีพื้นที่น้อย แต่ก็มีความอันตราย หากที่บ้านมีเด็กหรือผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงวิธีการเก็บมีดแบบนี้จะดีกว่านะคะ

อยากให้งานในครัวสนุกขึ้น ก็อย่าลืมเลือกมีดไปใช้งานให้ถูกชนิด และดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานมีดกันด้วยนะคะ ใครอยู่บ้านว่างๆ เริ่มอยากทำครัว หรือมีดเล่มเก่าทื่อจนไม่สามารถกู้ความคมกลับมาได้ สามารถเข้ามาเลือกช้อปมีดทำครัว ไปทำอาหารกันได้ที่ OfficeMate เรามีมีดหลากหลายแบบ ทั้งมีดแบบอเนกประสงค์ ชุดมีดทำครัว และมีดใช้งานเฉพาะทางคุณภาพดี เข้ามาเลือกมีดที่เหมาะสมกับคุณ แถมด้วยอุปกรณ์ทำอาหารอีกมากมาย ช้อปเลยที่ OfficeMate

ขอบคุณข้อมูลจาก

มีด 7 แบบที่แยกความเป็นเชฟมืออาชีพออกจากมือสมัครเล่น

มีด 4 เล่มที่ควรมีติดครัว พร้อมเทคนิคการหั่นและการดูแลมีด

5 เรื่องชวนสงสัย เมื่อต้องเลือกซื้อมีดทำครัว

0 CommentsClose Comments

Leave a comment