นอกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้ว การเลือกปลั๊กพ่วงที่จะนำมาใช้ ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานเอง ก่อนหน้านี้หลายคนที่ซื้อปลั๊กพ่วงมาใช้ อาจเคยเจอกับปัญหาเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร เกิดการติดไฟบริเวณรางปลั๊กพ่วงจนก่อให้เกิดเพลิงไหม้ตามมา ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการใช้ปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาเหล่านี้ทำให้ทางสมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ออกมาตรฐาน มอก. 2432-2555” เพื่อบังคับในผลิตภัณฑ์ประเภทปลั๊กพ่วง

มาตรฐานมอก. คืออะไร?

พวกเราหลายคนได้ยินคำนี้บ่อยๆ คำว่า มาตรฐาน มอก. ทั้งจากคนอื่นเค้าพูดกัน หรือจากในโฆษณาสินค้า แต่ไม่เข้าใจซักทีว่า มอก. คืออะไร มอก. เป็นชื่อย่อของคำว่า “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิต นำเข้า จำหน่ายสินค้าที่ได้คุณภาพเหมาะกับการใช้งานสินค้าตัวนั้นๆ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในที่นี้มีหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ

สำหรับผู้บริโภค มาตรฐานมอก.ยังช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดมาตรฐานมอก. ทำให้มั่นใจในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ความคุ้มค่าในราคาเป็นธรรม มีอะไหล่เปลี่ยนหากสินค้าชำรุด ดังนั้นก่อนการเลือกสินค้าต่างๆ แม้แต่เครื่องปรุงอาหาร ยันอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เราควรเลือกที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานมอก.ด้วยนะคะ

มอก.ปลั๊กพ่วง (มอก.2432-2555)

มอก. ปลั๊กพ่วง 2432-2555

เมื่อรู้จุดประสงค์หลักของมาตรฐานมอก.กันแล้ว เรามาทำความรู้จัก มาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วง (ซึ่งเป็นมาตรฐานมอก.แบบบังคับ) ย้อนกลับไปก่อนมีมอก.2432-2555 เมื่อก่อนเราใช้มาตรฐานมอก.แยกส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ ในปลั๊กพ่วง เช่น มอก.สายไฟ มอก.เต้าเสียบ มอก.สวิตช์ เป็นต้น พอมีมาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วงขึ้นมา จึงใช้มอก.ตัวนี้ควบคุมและกำหนดมาตรฐานปลั๊กพ่วงที่มีลักษณะหยิบยกได้ รวมทั้งชุดสายพ่วงทั้งเซ็ท

มอก.ปลั๊กพ่วง มีผลบังคับให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป เป็นการบังคับให้กับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายปลั๊กพ่วงหลังจากวันที่บังคับใช้ ต้องผลิต นำเข้าและจำหน่ายเฉพาะปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐานมอก.เท่านั้น สำหรับปลั๊กไฟแบบเก่าที่ไม่มีมาตรฐานมอก.2432-2555 กำกับ สามารถขายได้ต่อจนกว่าสินค้าจะหมดสต๊อก แต่อย่าลืมรายงานไปยังสมอ.ด้วยนะคะ

ในฐานะผู้ซื้อปลั๊กพ่วง มาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วงเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร

ใครที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน คงเข้าใจดีว่าความเสี่ยงเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับคนใช้ ทั้งไฟฟ้าลัดวงจร ปลั๊กพ่วงระเบิด ไฟไหม้ปลั๊กพ่วงจนเกิดเหตุเพลิงไหม้ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดกับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคอย่างเราๆ ทั้งนั้น ดังนั้นก่อนเลือกซื้อปลั๊กพ่วงครั้งต่อไป ควรเลือกที่มีมาตรฐานมอก.กำกับอยู่เสมอ

ปลั๊กพ่วงแบบไหน? ตรงตามมาตรฐานมอก.

1.ปลั๊กพ่วงต้องมีสัญลักษณ์มาตรฐานมอก.ปลั๊กไฟ (มอก.2432-2555) อยู่บนบรรจุภัณฑ์ และบนผลิตภัณฑ์

มอก. ปลั๊กพ่วง 2432-2555
รางปลั๊กไฟ 4 ช่อง 1 สวิตซ์ Toshino รุ่น N1-375-5M(BK)

2.แรงดันไฟฟ้าบนฉลาก : ปลั๊กพ่วงต้องระบุว่า รองรับแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 50V (โวลต์) แต่ไม่เกิน 440 V (โวลต์) และรองรับกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 16A (แอมแปร์)

3.เต้าเสียบ ต้องเป็นแบบขากลม 3 ขา ที่ได้มาตรฐานมอก.166-2549 เท่านั้น และต้องมีฉนวนกันกระแสไฟฟ้าที่รอบโคนขากลม เพื่อความปลอดภัยหากผู้ใช้นำนิ้วไปแตะโดน และเมื่อนำเต้าเสียบไปเสียบเข้ากับเต้ารับ จะต้องแน่นพอดี ไม่หลวม เพราะหากปลั๊กหลวมจะส่งผลให้ตัวปลั๊กร้อนและเป็นสาเหตุของไฟไหม้ได้

มอก. ปลั๊กพ่วง 2432-2555

4.ตัวปลั๊กพ่วง หรือรางปลั๊ก ต้องทำจากวัสดุที่ไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก AVC, พลาสติก ABS หรือโพลีคาร์บอเนต ที่ผ่านมาตรฐาน UL94

5.สวิตช์ไฟ : ปลั๊กพ่วงตามมอก.ฉบับใหม่ไม่ได้บังคับว่าต้องมีสวิตช์ แต่สำหรับปลั๊กพ่วงที่มีสวิตช์เปิด-ปิด สวิตช์นั้นจะต้องได้มาตรฐานมอก.824-2551

6.ตัวตัดไฟ : สำหรับปลั๊กพ่วงที่มีตั้งแต่ 3 เต้าขึ้นไป จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟเกิน และต้องใช้แบบเบรกเกอร์ ระบบ RCBO หรือ Thermal Circuit Breaker เท่านั้น ห้ามใช้ฟิวส์ในการตัดไฟหรือป้องกันไฟเกินอีกต่อไป

7.เต้ารับ : บนรางปลั๊กพ่วงต้องมีช่อง L N G ครบ และมีม่านนิรภัยหรือม่านชัทเตอร์ปิดรูเต้ารับทุกเต้า เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมและนิ้วมือเด็กแหย่ลงไป ที่สำคัญ คือในช่อง G (Ground) หรือช่องสำหรับสายดิน ต้องมีการต่อสายดินจริงทุกเต้า ห้ามทำกราวด์หลอกเหมือนที่ผ่านๆ มา

8.สายไฟ ปลั๊กพ่วงตามมาตรฐานมอก. ฉบับใหม่ จะต้องเป็นสายไฟแบบกลม ที่ได้มาตรฐานมอก.11-2553 เท่านั้น

MEMO!
เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใช้งานควรคำนึงถึง คือ ควรเลือกปลั๊กพ่วงที่รองรับกำลังไฟการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชิ้นในเวลาเดียวกัน โดยดูที่จำนวนวัตต์ (Watt) ที่ระบุอยู่บนปลั๊กพ่วง และดูเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะเสียบกับปลั๊กพ่วงว่าใช้กำลังไฟเท่าไหร่ ซึ่งจะระบุอยู่บนอุปกรณ์ไฟฟ้าเช่นกัน

เช่น ปลั๊กพ่วง 2,000 วัตต์ อุปกรณ์ที่นำมาเสียบใช้ไฟมีโน๊ตบุ๊ค 40 วัตต์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 450 วัตต์ เตารีด 600 วัตต์ เราสามารถเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้ง 3 ชิ้นนี้พร้อมกันได้ (40+450+600=1,090 วัตต์) เนื่องจากรวมกันไม่เกิน 2,000 วัตต์

เชื่อว่าทุกบ้านคงต้องมีปลั๊กพ่วงติดบ้านกันอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ 1-2 ราง เพื่อใช้ต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เรื่องมาตรฐานมอก.ปลั๊กไฟ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ใช้งานปลั๊กพ่วงจำเป็นต้องรู้ เพื่อความปลอดภัยของเราเองและคนในบ้าน ยิ่งบ้านไหนมีเด็กเล็กๆ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เต้ารับบนปลั๊กพ่วงจะต้องมีม่านปิดไว้เสมอนะคะ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ ต้องได้มาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วงตามที่อ่านกันไปแล้ว เลือกซื้อปลั๊กพ่วงครั้งหน้าก็อย่าลืมเลือกที่ได้มาตรฐานมอก.กันด้วยนะคะ

แต่ถ้ายังไม่มั่นใจว่าจะซื้อปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วงจริงๆ รึป่าว สามารถเข้ามาเลือกซื้อปลั๊กพ่วงคุณภาพดี และแน่นอนว่ามีมาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วงรองรับอย่างแน่นอน สั่งซื้อง่ายๆ สะดวกสบาย 24 ชั่วโมงที่เว็บไซต์ OfficeMate พร้อมบริการจัดส่งฟรี* อีกด้วยนะคะ

ที่มา: plugthai.com / pr.tisi.go.th