ชั้นโอโซน เปรียบเหมือนเกราะบางๆ ที่ห่อหุ้มโลกไว้ ทำหน้าที่คอยปกป้องสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ จากอันตรายของรังสี UV ที่มาจากดวงอาทิตย์

วันที่ 16 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันโอโซนโลก หรือ International Day for the Preservation of the Ozone Layer วันนี้ถูกตั้งขึ้นสืบเนื่องจากพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ในปี ค.ศ.1987 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุม และลดการใช้สาร CFCs ที่ทำลายชั้นโอโซนและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เราควรหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยเริ่มที่การทำความรู้จักกับ “โอโซน” ก๊าซที่คอยปกป้องชีวิตของพวกเรากันก่อนดีกว่าค่ะ

โอโซน คืออะไร?

โอโซน (Ozone) คือ ก๊าซชนิดหนึ่งที่พบได้บริเวณชั้นบรรยากาศของโลก 1 โมเลกุลของโอโซนประกอบด้วย ออกซิเจนถึง 3 อะตอม ในห้องทดลองเราสามารถมองเห็นก๊าซโอโซนเป็นสีน้ำเงินจางๆ และมีกลิ่นค่อนข้างฉุน ปริมาณของโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกค่อนข้างเบาบาง เราจะพบว่าโอโซนมีปริมาณน้อยกว่า 1 ในล้านของโมเลกุลทั้งหมดเมื่อเทียบกับโมเลกุลของก๊าซต่างๆ หรือพูดให้เห็นภาพกว่านั้นก็คือ หากลองนำโมเลกุลของโอโซนทั่วโลกมาบีบอัด จะได้ขนาดเท่าเหรียญ 1 ดอลลาร์เท่านั้นเองค่ะ

ชั้นโอโซน อยู่ส่วนไหนของโลก

โลกร้อน โอโซน

ชั้นโอโซน (Ozone layer) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นโลกประมาณ 20-50 กิโลเมตร บริเวณบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าชั้นโอโซนเปรียบเหมือนเกราะบางๆ ที่ห่อหุ้มและปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยโอโซนจะคอยดูซับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสี UV ที่มาจากดวงอาทิตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รังสี UV-B เพื่อให้รังสีอันตรายเหล่านี้ผ่านมายังโลกในปริมาณที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งรังสี UV เมื่อตกกระทบกับสิ่งมีชีวิตโดยตรงเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตทั้งจุลินทรีย์ พืช สัตว์ และมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ช่องโหว่ชั้นโอโซน หายนะที่เกิดจากมือมนุษย์

เมื่อประมาณปี ค.ศ.1980 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบช่องโหว่ของชั้นโอโซนบริเวณเหนือทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งหลังจากการประกาศเรื่องนี้ออกไป ทำให้ทุกคนตื่นตัวในเรื่องการทำลายชั้นโอโซนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และที่น่าตกใจคือสาเหตุของการเกิดช่องโหว่ชั้นโอโซน เกิดจากสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น และนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำสินค้าบางชนิด ซึ่งกระบวนการผลิตสินค้าเหล่านี้อาศัยสารที่สังเคราะหฺขึ้น อย่างสารคลอโรฟลูโอคาร์บอน (Chlorofluorocarbon) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สาร CFC  นอกจากนี้ยังมีสารตัวอื่นๆ ที่เป็นสารทำหลายชั้นโอโซน เรียกโดยรวมคือ ODSs (Ozone Depleting Substances) นอกจาก CFCs ก็ยังมี Hydrochlorofluorocarbons (HCFCs), Carbon tetrachloride และ Methyl chloroform

ชั้นโอโซนบางลงและเป็นช่องโหว่ ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในวงกว้าง

โลกร้อน โอโซน
  • ผลกระทบต่อมนุษย์

ช่องโหว่ของโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสี UV-B จากดวงอาทิตย์กระทบเข้ากับมนุษย์ในปริมาณที่เข้มข้นขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเป็นวงกว้างทั่วโลก โดยหากเราได้รับรังสี UV-B มากเกินไป สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ รวมถึงรังสี UV จากแสงแดด ยังเป็นสาเหตุของปัญหาโรคต้อกระจก และอาจอันตรายถึงขั้นตาบอด ยังไม่หมดเท่านี้ อันตรายจากรังสี UV ยังส่งผลก่อให้เกิดโรคต่างๆ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอีกด้วย

  • ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล

นอกจากโอโซนที่น้อยลงจะส่งผลต่อมนุษย์แล้ว ยังส่งผลต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล อย่างเช่นตะไคร้น้ำ กุ้งตัวเล็กๆ ไข่ปลา ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของห่วงโซอาหารในทะเลเลยทีเดียว เมื่อห่วงโซ่อาหารขั้นพื้นฐานเหล่านี้ถูกทำลายลดลง ทำให้อาหารทะเลต่างๆ ลดลงตาม ก่อเกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอาหารตามมา

  • ผลกระทบต่อพืชพันธุ์บนโลก

แน่นอนว่าปริมาณรังสี UV ที่ลงมายังโลกมากขึ้นเนื่องจากชั้นโอโซนน้อยลง ส่งผลต่อพืชพันธุ์บนพื้นดินอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และทำให้ลักษณะทางกายภาพของพืชเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบในขั้น DNA และเกิดโรคพืชมากมาย ทำให้ผลิตอาหารได้น้อยลง ทั้งหมดนี้นำไปสู้วิกฤตเกี่ยวกับอาหารทั่วโลกเลยทีเดียว

  • ผลกระทบต่อวัฏจักรคาร์บอน สารอาหาร และองค์ประกอบอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ

ผลกระทบจากการลดลงขอโอโซนในมุมนี้ หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เนื่องจากรังสี UV ตกกระทบผิวโลกมากขึ้น ทำให้เกิดการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายบนพื้นดินจนเกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากเกินไป และทำลายวัฏจักรก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เราบ่นกันอยู่ทุกวันนี้ และเกิดเป็นมลพิษในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้วัตถุต่างๆ ที่รังสี UV ตกกระทบเป็นประจำ อย่างของใช้ที่เราตั้งไว้กลางแจ้งเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติอีกด้วย

สารทำลายชั้นโอโซน มาจากไหน?

เมื่อเรารู้แล้วว่าสารที่ทำลายชั้นโอโซน คือ ODSs ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มสาร CFCs เป็นต้น เราควรรู้ว่าสารเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสินค้าประเภทใด เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้งานสินค้าที่มีส่วนประกอบของสารเหล่านี้กันนะคะ

  • สินค้าทำความเย็น

ใช้เป็นสารทำความเย็น สาร ODSs อย่างเช่นสาร CFC-11 CFC-12 หรือ HCFC-22 ถูกนำไปใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นตามบ้าน และตู้แช่เย็นที่ใช้กันตามร้านค้าปลีกทั่วๆ ไป

  • สินค้ากลุ่มในรูปแบบกระป๋องสเปรย์

ใช้เป็นสารที่ทำหน้าที่ดันของเหลวออกมาจากกระป๋องสเปรย์ เช่น สเปรย์แต่งผม สเปรย์ดับกลิ่นกาย หรือสเปรย์ปรับอากาศที่ใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งสาร ODSs ที่ใช้สำหรับสเปรย์คือพวก CFC-11 และ CFC-12

  • สินค้าที่มาจากโฟม

นอกจากนี้ CFC-11 และ CFC-12 ยังใช้ในกระบวนการเป่าโฟมในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นโฟมที่ใช้ตกแต่งบ้าน ฉนวนกันไฟ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหลาย รวมถึงพลาสติกที่ต้องนำมาขึ้นรูปต่างๆ ก็ใช้สาร CFCs ในการผลิต เช่น รางไข่ แก้วน้ำพลาสติก เป็นต้น และริจิดโฟม (Rigid Foam) เป็นโฟมที่มีความแข็ง นิยมนำมาเป็นฉนวนกันความร้อน และกันเสียง

โลกร้อน โอโซน
  • สารละลายทำความสะอาด

สาร CFC-113 ถูกใช้เป็นตัวทำละลายในการทำความสะอาดแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ และใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์

  • ถังดับเพลิง

สารชนิดอื่นๆ ที่เป็น ODS ทั้ง Halons, BCF และ BTM เป็นตัวทำละลายที่ใช้กันในถังดับเพลิง

  • กลุ่มสินค้าทางการเกษตร

Methyl Bromide หรือ เมทิล โบรไมด์ เป็นสารอีกตัวที่ทำลายชั้นโอโซน นิยมใช้รมควันผลผลิตทางการเกษตรเพื่อไร่แมลงก่อนการส่งผลผลิตนั้นออกนอกประเทศ หรือใช้รมควันหน้าดินก่อนการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีอยู่ในปุ๋ยเคมีอีกด้วย

เห็นไหมคะว่าจริงๆ แล้ว ในชีวิตประจำวันของเราพบเจอและใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของ ODSs หลากหลายชิ้น โมเลกุลของโอโซนที่ถูกทำลายไป เราอาจจะเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนทำลาย ในเมื่อเรารู้ถึงผลกระทบที่เกิดกับชั้นโอโซนของโลกเราแล้ว ลองเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการช่วยโลกเราได้นะคะ

เปลี่ยนพฤติกรรม ลดการทำลายชั้นโอโซน

  • สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ คือ ลดการใช้ขวดสเปรย์ทุกชนิดที่มีสารประกอบของ CFCs ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์กำจัดกลิ่นกาย สเปรย์ปรับอากาศ สเปรย์ครีมโกนหนวด หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคำว่า Ozone-friendly, Non-CFC หรือ CFC Free
  • ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศแทบทั้งหมดในปัจจุบันเป็นแบบ Non-CFCs อยู่แล้วนะคะ เนื่องจากเป็นประกาศกำหนดจากกระทรวงพาณิชย์ แต่อาจจะมีบางคนที่ยังใช้ตู้เย็นที่ผลิตในยุคก่อนๆ ซึ่งมีสาร CFCs เป็นส่วนประกอบ ควรเลิกใช้งานและเปลี่ยนมาใช้ตู้เย็นรุ่นใหม่ๆ แทน
  • ตรวจเช็คระบบทำความเย็นของรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ หากมีรอยรั่วยิ่งจำเป็นต้องแก้ไขโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้สาร ODSs ต่างๆ ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
  • เลิกใช้โฟม! บรรจุภัณฑ์จากโฟม และวัสดุอื่นๆ ที่ใช้โฟมเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากโฟมมีส่วนประกอบของสารที่ทำลายชั้นโอโซน ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการควบคุมมากขึ้น แต่โฟมก็ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ ลองหันมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทดแทนที่ผลิตจากเยื่อพืช ชานอ้อย ซึ่งเป็นมิตรต่อโลก
โลกร้อน โอโซน
  • หันมาเลือกบริโภคสินค้าออร์แกนิค ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะบริโภคหรือผู้ประกอบการอาหาร สามารถช่วยลดการทำลายชั้นโอโซนได้ ด้วยการหันมาทานอาหาร พืช ผัก หรือสินค้าต่างๆ ที่เป็นสินค้าออร์แกนิค เนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้าออร์แกนิค ไม่มีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีใดๆ ในขั้นตอนการเพาะปลูก ดีต่อสุขภาพและป้องกันโอโซนได้
  • บริโภคสินค้าท้องถิ่นแทนสินค้านำเข้า เนื่องจากกระบวนการขนส่งสินค้าถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ทำให้เกิดมลพิษจากยานพาหนะที่ขนส่ง รวมถึงการใช้สารเคมีรมควันผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดแมลงก่อนการส่งออกมาถึงเรา ยิ่งเราบริโภคสินค้าเหล่านี้มากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มการใช้สารเคมี และยิ่งเป็นการลดโอโซนของโลก
  • ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว เนื่องจากรถยนต์จะปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดมลพิษในชั้นบรรยากาศ ดังนั้นลองเปลี่ยนมาใช่ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เหลือเปลี่ยนเป็นการปั่นจักรยาน หรือยานพาหนะทางเลือกอื่นๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน

หากทุกคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่างน้อยๆ บทความนี้คงช่วยให้ตระหนักถึงประโยชน์ของชั้นโอโซน และเหตุผลที่ทำไมเราต้องอนุรักษ์ชั้นโอโซนเอาไว้ การลดลงของโอโซนไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รับผลกระทบจากรังสีอันตรายต่างๆ จากแสงอาทิตย์ แต่ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก เป็นห่วงโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ นอกจากการปรับที่ตัวเองแล้ว ลองนำเรื่องราวเหล่านี้แชร์ให้กับคนรอบตัวของเราได้เข้าใจ ก็เป็นอีกวิธีที่จะปกป้องชั้นโอโซนได้มากขึ้นนะคะ

ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ หันมาใส่ใจสภาวะโลกร้อน เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อาหารจากโฟมหรือพลาสติก เป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ หาซื้อได้ง่ายๆ ที่ OfficeMate ช้อปออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท แถมด้วยเครดิตเทอมนาน 30 วัน!

ขอบคุณข้อมูล ozoneheroes.org/ greendiary.comepd.gov.hk