อากาศที่ร้อนระอุในหน้าร้อน มักทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย แต่หลายคนกลับมองว่าอัคคีภัยเป็นเรื่องไกลตัว ตามบ้านเรือนจึงมักไม่ค่อยมีอุปกรณ์สำหรับรับมือกับไฟไหม้กันซักเท่าไหร่ อย่าง ‘ถังดับเพลิง’ ที่จะเห็นได้ตามสำนักงานหรือสถานที่ราชการเท่านั้น เพราะคนทั่วไปมองว่าสิ้นเปลืองและไม่ค่อยได้นำมาใช้ แต่ถึงอย่างไร เรายืนยันว่าการมีถังดับเพลิงติดบ้านเอาไว้ ทำให้อุ่นใจได้มากกว่า และวันนี้ออฟฟิศเมทก็มีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับถังดับเพลิงมาฝาก พร้อมเหตุผลที่ควรมีถังดับเพลิงไว้ติดบ้าน ไปดูกันเลยค่ะ

ทำความเข้าใจกับเพลิงไหม้

ก่อนไปรู้จักกับถังดับเพลิง ออฟฟิศเมทอยากให้ทุกคนรู้จักประเภทของเพลิงไหม้กันก่อน จะได้เลือกอุปกรณ์ดับเพลิงหรือถังดับเพลิงมาใช้อย่างถูกต้องนั่นเอง ไปดูกันเลยค่ะ

  • เพลิงไหม้ประเภท A (Ordinary Combustibles) เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ และพลาสติก สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า
  • เพลิงไหม้ประเภท B (Flammable Liquids) เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีส่วนประกอบของน้ำมันดิบ น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน และก๊าซไวไฟ การดับเพลิงไหม้นี้ต้องดับโดยกำจัดออกซิเจนในอากาศที่อยู่โดยรอบออก
  • เพลิงไหม้ประเภท C (Electrical Equipment) เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย เช่น มอเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือตัวแปลงกระแสไฟ ก่อนดับไฟควรตัดระบบไฟฟ้าทั้งหมดก่อน  
  • เพลิงไหม้ประเภท D (Combustible Metals) เกิดจากเชื้อเพลิงโลหะที่ติดไฟได้ เช่น ไทเทเนียม แมกนีเซียม อลูมิเนียม โพแทสเซียม เป็นต้น ไม่สามารถใช้น้ำเปล่าดับเพลิงไหม้นี้ได้ 
  • เพลิงไหม้ประเภท K (Combustible cooking) เกิดจากอุปกรณ์ทำอาหารในครัว เช่น น้ำมันประกอบอาหารหรือไขมันสัตว์ 

การแบ่งประเภทของถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงที่เห็นๆ กันอยู่ทั่วไป ดูแล้วก็เหมือนกันไปหมด แต่จริงๆ แล้วภายในถังดับเพลิงนั้น บรรจุด้วยสารต่างชนิดกัน เพื่อใช้สำหรับดับเพลิงไหม้แต่ละประเภทตามที่เรากล่าวถึงไปด้านบนนั่นเอง

ถังดับเพลิง ชนิดผงเคมีแห้ง

ถังดับเพลิงบรรจุผงเคมีแห้งและก๊าซไนโตรเจน เมื่อฉีดออกมาจะมีลักษณะเป็นฝุ่นละออง ช่วยขัดขวางเชื้อเพลิงอย่างก๊าซออกซิเจน เหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงไหม้ประเภท A, B และ C ถังดับเพลิงชนิดนี้มีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี และเมื่อใช้แล้วต้องส่งบรรจุใหม่ทุกครั้งแม้จะฉีดไม่หมดก็ตาม

ถังดับเพลิง ชนิดน้ำยาระเหย

ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาระเหยหรือสารเคมีเหลว เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอระเหย ช่วยดับความร้อนของเพลิงไหม้และขัดขวางการเผาไหม้ของก๊าซออกซิเจน ใช้ดับเพลิงไหม้ได้ทั้งประเภท A, B, C และ K เหมาะกับการติดตั้งในห้องคอมพิวเตอร์หรือในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ถังดับเพลิง ชนิดโฟม

ถังดับเพลิงชนิดโฟม เมื่อฉีดพ่นออกมาจะมีลักษณะเป็นฟองโฟมสีขาวกระจายปกคลุมเพลิงไหม้ ทำให้เพลิงไหม้นั้นขาดเชื้อเพลิงอย่างก๊าซออกซิเจนและมีความร้อนลดลง รวมถึงใช้ปกปิดพื้นผิวของเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันได้ดี เหมาะกับการดับเพลิงประเภท A และ B

ถังดับเพลิง ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ถังดับเพลิงแบบบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะมีลักษณะคล้ายน้ำแข็งแห้ง (Dry ice) สำหรับปกคลุมจุดที่เกิดเพลิงไหม้ ช่วยดับเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วและไม่ทิ้งคราบสกปรก เหมาะกับการดับเพลิงไหม้ประเภท B และ C

ถังดับเพลิง ชนิดน้ำผสมแรงดัน

ถังดับเพลิงประเภทนี้จะบรรจุน้ำเปล่าแล้วอัดด้วยก๊าซเอาไว้ สำหรับใช้ดับเพลิงประเภท A เหมาะที่สุดสำหรับการใช้ดับเพลิงในอาคารหรือที่พักอาศัย

วิธีการใช้ถังดับเพลิงเบื้องต้น

หลักการใช้ถังดับเพลิงแบบถูกวิธี เบื้องต้นมีเพียง 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ ดึง ปลด กด และส่าย

  1. ดึง : ขั้นแรกให้บิดกระดูกงูที่ยึดสลักไว้ให้ขาดออก แล้วดึงสลักสีเงินให้หลุดออก  
  2. ปลด : ปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออกมา แนะนำให้จับบริเวณปลายสายจะช่วยให้ดึงออกง่ายกว่า
  3. กด : เมื่อปลดสายออกมาแล้วจับบริเวณปลายสายจ่อไปยังเพลิงไหม้ แล้วจึงกดคันบีบของถังดับเพลิง
  4. ส่าย : ส่ายปลายสายถังดับเพลิงไปมา แนะนำให้ฉีดไปยังฐานของเชื้อเพลิงหรือจุดที่เป้นต้นเพลิง ไม่ควรฉีดบริเวณเปลวไฟที่ลุกไหม้นะคะ

วิธีการเลือกถังดับเพลิงไว้ติดบ้าน

อย่างที่เห็นว่าถังดับเพลิงแต่ละชนิดใช้ดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงคนละแบบ แต่ถ้าต้องเลือกถังดับเพลิงซัก 1 ถังมาติดตั้งไว้ที่บ้าน เราแนะนำให้เลือกเป็นถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เป็นถังดับเพลิงสีแดงที่เห็นได้ทั่วไป หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และสามารถดับเพลิงไหม้ได้หลายประเภท แต่ถ้าเป็นบ้านที่ประกอบอาหารบ่อยหรือร้านอาหาร ควรเลือกถังดับเพลิง ชนิดน้ำยาระเหย เพราะสามารถใช้ดับเพลิงประเภท K หรือเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันประกอบอาหารได้ค่ะ

นอกจากนั้นควรพิจารณาขนาดของถังดับเพลิงให้ดีก่อนซื้อไปติดตั้ง หากซื้อถังดับเพลิงขนาดใหญ่เกินไป อาจทำให้สมาชิกในบ้านยกไปใช้งานลำบาก และตำแหน่งของถังดับเพลิงควรอยู่ในที่ที่หยิบใช้ง่าย เพราะเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมาจะได้ดับไฟได้ทันท่วงที

ทำไมถึงควรมี ถังดับเพลิง ติดบ้านเอาไว้?

จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเพลิงไหม้แต่ละชนิด เกิดจากเชื้อเพลิงคนละประเภท และเพลิงไหม้บางประเภทไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่าธรรมดา และนอกจากเชื้อเพลิงที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมี ‘ก๊าซออกซิเจน’ ที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ช่วยให้ไฟติดและทำให้การเผาไหม้นั้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการทำงานของสารในถังดับเพลิง หลักๆ แล้วก็คือการขัดขวางก๊าซออกซิเจนไม่ให้เพลิงไหม้นั้นรุนแรงขึ้น และเมื่อไม่มีก๊าซออกซิเจนไฟจึงดับลงได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ถังดับเพลิงจึงใช้จัดการกับเพลิงไหม้ในเบื้องต้นได้มีประสิทธิภาพกว่าน้ำเปล่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงแนะนำให้คุณมีถังดับเพลิงติดบ้านไว้ซักอัน เผื่อในกรณีฉุกเฉิน การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าต้องมาแก้ทีหลังนะคะ

ตอนนี้ก็ย่างเข้าฤดูร้อนแล้ว ใครที่ยังไม่มีถังดับเพลิงไว้ติดบ้าน อย่ารอช้า คลิกไปที่เว็บไซต์ออฟฟิศเมท แล้วกดสั่งถังดับเพลิงกันเลยยย!